ในการเสพคอนเทนต์ของคนเราก็หนีไม้พ้น การดู การฟัง และการอ่าน ซึ่งหากพูดถึงการอ่านก็ต้องนึกถึงบทความเป็นอันดับแรก ในสมัยก่อนการอ่านบทความจะคุ้นเคยกันจากหนังสือพิมพ์ และ นิตยสารต่างๆ แต่ในยุคนี้ ช่องทางการอ่านบทความที่นิยมที่สุดคือช่องทางออนไลน์ ซึ่งถ้าเขียนได้ไม่น่าสนใจ ผู้อ่านก็จะปิดออกไปได้ง่ายๆ วันนี้ Pacy Media เอเจนซี่โฆษณาที่ผ่านงานเขียนบทความมามากมาย จะมาแชร์ว่าจริงๆ แล้ว บทความคืออะไร โครงสร้างประกอบไปด้วยอะไร และเทคนิค การเขียนบทความ ยังไงให้น่าอ่าน ไม่น่าเบื่อ ผู้อ่านไม่ปิดหนี
บทความคืออะไร
บทความคือเนื้อหาที่เขียนขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่สั้นเกิน และไม่ยาวมาก ส่วนใหญ่การเขียนบทความที่ลงบนช่องทางออนไลน์จะมีความยาวอยู่ในช่วง 1,000-2,000 คำ โดยเนื้อหาที่เขียนอาจเป็นการสัมภาษณ์ การอ้างอิงงานเขียนอื่นๆ เพื่อมาเล่าให้ฟัง การใส่ความคิดเห็นของผู้เขียน การแชร์ประสบการณ์ การเขียนเพื่อนำเสนอสินค้า การเขียนข่าว การเขียนบทความวิชาการ
การเขียนบทความ จะต่างจากการเขียนหนังสือตรงที่บทความจะเป็นเนื้อหาที่ไม่ยาวมาก ใช้เวลาอ่าน 2-10 นาทีก็ควรจะจบ โดยบางครั้งเราจะเห็นบางเว็บไซต์ที่เขียนบทความจำนวนมากที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน เช่น การลงทุน พอเขียนได้มากในระดับหนึ่งก็จะรวบรวมไปทำเป็นหนังสือ
สำหรับบทความที่มีเป้าหมายเพื่อการตลาดจะเรียกว่า การทำ Content Marketing ซึ่งจะเป็นบทความที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถศึกษาทำความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง หรืออาจจะนำไปลงบนเว็บไซต์อื่นหรือสื่อออนไลน์อื่นๆ เพื่อใช้ในการโปรโมทก็ได้เช่นกัน
บทความออนไลน์ต่างจากบทความทั่วไปอย่างไร
บทความออนไลน์คือบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ อย่าง Facebook หรือ Pantip ไปจนถึงบทความที่เขียนเพื่อให้ติดบนหน้า Google เวลามีคนค้นหา ซึ่งแบบนี้จะเรียกว่า บทความ SEO สามารถศึกษาเพื่อเขียนเอง หรือใช้บริการกับบริษัทที่รับทำ SEO เพื่อให้เขียนบทความและปรับโครงสร้างเว็บไซต์ให้ไปติดอยู่ในฐานข้อมูลของ Google
การเขียนบทความออนไลน์ให้ติด Google จะต้องคำนึงถึงเรื่อง Search Intent หรือการดูว่าคนที่เข้ามาค้นหาด้วย Keyword นั้นๆ หวังอยากจะเสพคอนเทนต์แบบไหน
ยกตัวอย่างเช่น คนที่ค้นหา “เขาช่องลม เปิดกี่โมง” ก็ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับเขาช่องลม เวลาเปิด-ปิด ดังนั้นหากคุณเป็น Travel Blogger ที่กำลังจะเขียนบทความท่องเที่ยวเขาช่องลม ก็ควรมีเนื้อหาเกี่ยวกับเวลาเปิด-ปิดไปในบทความด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้บทความไปแสดงบน Google เวลามีการค้นหา ซึ่งหากต้องการทำให้ติดอันดับแบบเป็นเรื่องเป็นราวต้องอ่านต่อเรื่อง SEO Marketing
โครงสร้างบทความ
ก่อนไปเรื่องเทคนิคการเขียนบทความให้น่าอ่าน ขอเล่าเกี่ยวกับโครงสร้างบทความก่อน เนื้อหาบทความประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักๆ คือ
- Topic : หัวข้อบทความ ว่าเกี่ยวกับอะไร ไม่ควรยาวมาก ไม่ควรเขียนแบบ Clickbait (หลอกให้คลิก)
- Introduction : เกริ่นนำว่าจะเล่าเรื่องอะไร สำคัญอย่างไร หรืออาจเปิดด้วยปัญหาที่ผู้อ่านอาจกำลังพบเจอและเกริ่นถึงสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะนำเสนอเพื่อแก้ปัญหา
- Body : เริ่มเนื้อหาหลัก บางบทความอาจต้องปูพื้นฐานความรู้ก่อนเล็กน้อย บางบทความสามารถเข้าเรื่องได้เลย บางบทความอาจทำเป็นการจัดอันดับ 1-10 เช่น บทความแนวรีวิว หรือ บทความจัดอันดับ
- Conclusion : สรุปจบ หรืออาจเขียนปิดท้ายถึงข้อคิดที่ได้จากบทความ
- Reference : อ้างอิงแหล่งที่มาของบทความ หากเป็นช่องทางออนไลน์ให้ใส่เว็บไซต์พร้อมใส่ Hyperlink เพื่อให้คลิกไปยังเว็บไซต์นั้นๆ ได้ แต่หากเขียนเองทั้งหมด 100% ก็ไม่จำเป็นต้องมีในส่วนนี้
โดยส่วนที่สำคัญหลักๆ ในด้านของเนื้อหา คือ Introduction, Body และ Conclusion
การเขียนบทความที่ดีควรให้เนื้อหาอยู่ใน 5 ส่วนนี้เพื่อไม่ให้หลุดกรอบ ถ้าใครเป็นมือใหม่แนะนำให้เขียน Outline ก่อน โดยลิสต์ออกมาคร่าวๆ ว่า Introduction จะพูดเกี่ยวกับอะไร Body จะนำเสนออย่างไร อะไรก่อน-หลัง จะมีหัวข้อย่อยๆ อะไรบ้าง และ Conclusion มีอะไรที่ต้องเสริม หรือจำเป็นต้องทิ้งท้ายบ้าง จะทำให้ไม่ออกทะเล และเลี่ยงปัญหาการจบไม่ลง
ในส่วนท้ายของบทความก็อย่าลืมใส่ Reference ซึ่งการใส่ Reference ในเนื้อหาจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคอนเทนต์ได้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่อาจจะอยากไปหาข้อมูลที่ลึกขึ้นก็สามารถคลิกตามไปอ่านต่อได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เขียนและผู้อ่าน
การเขียนข่าวจะต่างจากบทความทั่วไป
การเขียนข่าวจะไม่เน้นการใส่ความคิดเห็นของตัวเอง แต่จะเน้นการเล่าเรื่องราวความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อธิบายชัดเจนว่า ใคร ทำ อะไร ที่ไหน อย่างไร หรือหากเป็นข่าวเชิงวิเคราะห์ อาจตบท้ายได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบต่อผู้อ่านอย่างไร
อย่างข่าวเศรษฐกิจ หากเขียนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจทั่วไปก็แค่นำเสนอว่า ใคร เสนอนโยบายอะไร ที่ไหน รายละเอียดอย่างไร แต่หากเป็นเชิงวิเคราะห์ ก็ตบท้ายไปด้วยว่าจะกระบทต่อผู้อ่านอย่างไร เช่น กระทบต่อธุรกิจ SME กระทบกับชาวบ้านอย่างไร
หรือบางครั้ง การเขียนข่าวเชิงสรุปก็อาจไปอ้างอิงจากหลายๆ แหล่งข่าวได้ เช่น ข่าวเศรษฐกิจโลก อาจนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากหลายๆ แหล่งข่าว และมาสรุปว่าเกิดอะไรบ้าง ที่ไหน จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องใส่ Reference อ้างอิงแหล่งข่าวด้วย
การเขียนบทความให้น่าอ่าน ไม่น่าเบื่อ
ทั้ง Introduction และ Body ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้อ่านอ่านต่อ เพราะถ้าเริ่มมาดูงงๆ หรือดูไม่เป็นเหมือนที่เกริ่นไว้ตรงห้วข้อ ผู้อ่านก็อาจปิดออกไปได้ ยิ่งถ้าเป็นช่องทางออนไลน์ความอดทนของผู้อ่านถือว่าต่ำมาก ดังนั้นต้องดึงดูดให้ได้ตั้งแต่ Introduction
การเขียน Introduction ให้น่าสนใจ
ไม่ควรเกริ่นยาวเกินไป ควรพูดให้ตรงกับเนื้อหา และสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังว่าจะได้จากบทความนั้นๆ โดยอาจเล่าให้เห็นภาพว่าทำไมบทความนี้สำคัญกับผู้อ่าน ทำไมบทความนี้ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อ่านได้ หรือบทความนี้กำลังจะพาผู้อ่านไปพบกับอะไร
โดยหากมีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจก็ให้ใส่ตรง Introduction ได้ เช่น หากในเนื้อหามีการสัมภาษณ์ หรือมีความเห็นจากบุคคลสำคัญ ก็บอกให้ทราบกันไปตอนเกริ่นนำเลย เช่น “ท้ายบทความมาลองดูกันว่า Elon Musk มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้”
การเขียน Body ให้น่าสนใจ
ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้อ่านคือใคร และพอมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าเป็นบทความประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็อาจจะต้องมีการปูพื้นฐานกันนิดนึงก่อน เช่น สมัยนั้นสภาพของสังคมโลกเราเป็นอย่างไร อยู่ในยุคที่คนตื่นตัวเรื่องอะไร ขั้วอำนาจของโลกเราเป็นแบบไหน ระบอบการปกครอง เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพเดียวกับผู้เขียนก่อน จากนั้นค่อยเริ่มรายละเอียดต่างๆ
แต่หากเป็นบทความที่ผู้เขียนพอมีความรู้บ้างแล้ว เช่น เรื่องนี้ที่คุณกำลังอ่านอยู่ เชื่อว่าทุกคนก็พอรู้แล้วว่าบทความคืออะไร เราก็จะไม่เกริ่นยาวมาก ไม่จำเป็นต้องเล่าไปถึงการเขียนบทความครั้งแรกของประเทศไทยสมัยสุโขทัย เพราะหากเราเล่าย้อนไปถึงตรงนั้น คงไม่มีใครอ่านต่อจนถึงตรงนี้
อีกเทคนิคของการเขียน Body ให้อ่านง่าย และไม่น่าเบื่อ คือการแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้เลยว่า Section นี้จะพูดถึงอะไร โดยแต่ละ Paragraph ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนติดกันยาวเกินไป เพราะจะทำให้อ่านยากโดยเฉพาะการอ่านบทความบนมือถือ นอกจากนี้ยังสามารถใส่รูปภาพประกอบเพื่อให้อ่านสบายและช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น และอย่าลืมว่ารูปภาพนี้สามารถถูก Google นำไปประมาลผลเพื่อเอาไปขึ้นบนผลการค้นหาได้ด้วย โดยต้องใส่ ALT Text ทุกครั้ง
ในด้านการเขียนบทความสำหรับการตลาด หากเขียนเนื้อหาในส่วน Body ได้น่าสนใจทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการทำ Lead Generation ก็มีโอกาสที่จำนวน Lead จาก Organic Traffic จะเพิ่มขึ้น
การคัดลอกบทความ
สุดท้ายนี้ หากบทความที่เขียนอ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่นหรือบทความบนเว็บไซต์อื่นมา ผู้เขียนควรทำความเข้าใจและนำมาเขียนใหม่ ไม่ควรคัดลอกมาทั้งหมดแล้วอ้างว่าเป็นของตนเอง โดยควรใส่ Reference ให้ถูกต้อง
แต่หากเป็นการนำคำพูดหรือ Quote ของใครมา สามารถ Copy มาตามนั้นได้เลย และเขียนกำกับว่าเป็นคำพูดของใคร
การเขียนบทความไม่ได้ยาก เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน และอ่านบทความอื่นเยอะๆ โดยหากต้องการทำบทความบนเว็บไซต์ให้ติดหน้า Google เวลามีคนค้นหาก็ต้องศึกษาเรื่องการทำ SEO ไปด้วย หรือจะปรึกษากับทาง Pacy Media ก็ได้เช่นกัน
แชร์ความรู้นี้บน Social Media